
วัดมัชฌันติการาม
ประวัติอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับวัด

โรงเรียนวัดมัชฌันติการาม
โรงเรียนวัดมัชฌันติการามตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๓ ซอยสว่างวงศ์ ๑๑ ถนนวงศ์สว่าง แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนนี้เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาล ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาเปิดเรียนเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ รองอำมาตย์ศรีสงัด ศรีเพ็ญ นายอำเภอบางซื่อ ได้ทำพิธีเปิดมีครู ๒ คน คือ นายปลั่ง ปั้นลายนาค ครูใหญ่และนายสำราญ มหากายนันท์ เป็นครูน้อย มีนักเรียนชาย ๓๑ คน นักเรียนหญิง ๔๓ คน รวม ๗๔ คน ใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียนในระยะเริ่มแรก
ตำบลนี้เดิมเรียกว่า ตำบลบางซ่อน อยู่ในท้องที่อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร ต่อมาทางราชการได้บุบอำเภอบางซื่อไปรวมกับอำเภอดุสิต และบางเขตตำบลบางซ่อนยุบรวมเป็นตำบลบางซื่อ โรงเรียนซึ่งมีชื่อเดิมว่า “โรงเรียนประชาบาล ตำบลบางซื่อ ณ วัดมัชฌันติการาม”
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารได้มาตรวจพบสภาพวัด จึงได้ร่วมมือกับประชาชนตัดถนนเข้าวัด สร้างศาลาการเปรียญใหม่ อนุญาตให้กระทรวงการศึกษาสร้างอาคารเรียนแบบถาวรขึ้นในพื้นที่สวนของวัด จึงได้ย้ายที่เรียนจากศาลาแห่งเดิมมาที่โรเรียนใหม่ ซึ่งเป็นอาคารเรียนชั้นเดียว มี๗ ห้องเรียน เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๗ เป็นต้นมา
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ เทศบาลนครกรุงเทพได้ขยายเขตมาถึงตำบลบางซื่อ โรงเรียนจึงโอนไปยังสังกัดเทศบาลนครกรุงเทพตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ และได้สร้างอาคารเรียนไม้ ๒ ชั้นจำนวน ๑ หลัง (อาคาร ๑) ๘ ห้องเรียน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๘ ด้วยเงินการประถมศึกษา ซึ่งจัดสรรไว้ก่อนโอนโรงเรียนมาสังกัดเทศบาล
พุทธศักราช ๒๕๐๙ ได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โดยเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เป็นปีแรก ปัจจุบันโรงเรียนวัดมัชฌันติการามมีอาคารเรียน ๔ หลัง เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
โรงเรียนวัดมัชฌันติการาม ปัจจุบันมีเนื้อที่ กว้าง ๔๒ เมตร ยาว ๑๓๕ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ ๑,๓๑๗ ตารางวา (๓ ไร่ ๑ งาน ๑๗ ตารางวา) ตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๘ เล่มที่ ๓๐ หน้า ๓๘

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ทั้งสองสถาบันนั้นต่างมีที่มาแห่งนามสถาบันจากที่เดียวกัน กล่าวคือ วัดมัชฌันติการามนั้นเป็นนามโปรดเกล้าฯ พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นเกียรติแก่เข้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ นามพระราชทานนี้ใช้มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๑๗ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทั้งชื่อสถาบันและตราสัญลักษณ์ของสถาบัน ล้วนเกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทั้งสิ้น กล่าวคือในพุทธศักราช ๒๕๐๒ ประเทศไทยต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรื่องในด้านเศรษฐกิจเฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ จึงเกิดการร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันชั้นนำในประเทศนั้นๆ เข้ามาช่วยเหลือในด้านวิชาการเครื่องมือและส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย หนึ่งในสถาบันเหล่านั้นคือสถาบันเทคโนโลยีไทย–เยอรมัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณริมถนนพิบูลสงคราม จนมาถึงพุทธศักราช ๒๕๑๔ มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมทั้งอนุญาตให้อัญเชิญ พระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระบรมราชสัญจกรประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ ๔ มาเป็นตราสถาบันตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน วัดมัชฌันติการามเป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินากาย ผู้สถาปนาคณะธรรมยุตินิกาย คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นทั้ง มหาวิทยาลัยก็ดี วัดมัชฌันติการามก็ดี จึงมีการเกี่ยวข้องกันด้วยเหตุประการฉะนี้ งานต่างๆของวัดมัชฌันติการามได้รับการอุปถัมภ์ด้วยดีจากทางมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ อธิการบดี คณะผู้บริหาร คณะครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมถึงนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ต่างให้การอุปถัมภ์ต่อวัดมัชฌันติการามด้วยดรตามลำดับ เช่นเดียวกันเมื่อทางสถาบันมีกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพิธีประสาทปริญญาบัตร ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา ทำบุญคณะฯ ทำบุญภาควิชาต่างๆ รวมถึงการทำบุญตักบาตรประจำทุกเช้าวันพฤหัสบดี ทางมหาลัยนิยมที่จะนิมนต์พระเถรานุเถระจากวัดมัชฌันติการาม ไปเจริญพระพุทธมนต์มาเป็นเวลาช้านาน ยิ่งงานประจำปีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามด้วยแล้ว คณะครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมถึงนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเข้ามาอุปถัมภ์ต่อการร่วมทำบุญ บูรณปฏิสังขรณ์วัดมัชฌันติการามนี้ด้วยดีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน